Montgomery, Bernard Law; 1st Viscount Montgomery of Alamein (1887-1976)

จอมพล เบอร์นาร์ด ลอว์ มอนต์กอเมอรี, ไวส์เคานต์มอนต์กอเมอรีที่ ๑ แห่งอะลาเมน (๒๔๓๐-๒๕๑๙)

​​​​​​     จอมพล เบอร์นาร์ด ลอว์ มอนต์กอเมอรี เป็นจอมทัพแห่งสหราชอาณาจักรและเป็นหนึ่งในจำนวนแม่ทัพคนสำคัญฝ่ายพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เขามีบทบาทเด่นในสงครามแถบแอฟริกาเหนือเพราะสามารถขับไล่กองทัพเยอรมันภายใต้บัญชาการจอมพล แอร์วิน รอมเมิล (Erwin Rommel)* ให้ออกไปจากอียิปต์ในยุทธการที่เอลอะลาเมน(Battle of El Alamein)* ค.ศ. ๑๙๔๒ เมื่อประเทศฝ่ายพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มองดี (Normandy) ในวันดีเดย์ (D-Day)* เพื่อปลดปล่อยยุโรปออกจากการยึดครองของเยอรมนีเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ มอนต์กอเมอรีเป็นผู้บัญชาการกองกำลังรบพันธมิตรนอกประเทศ (Allied Expeditionary Force) ภาคพื้นดินของฝ่ายพันธมิตร หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง มอนต์กอเมอรีได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นไวส์เคานต์มอนต์กอเมอรีที่ ๑ แห่งอะลาเมน ใน ค.ศ. ๑๙๔๖ และต่อมาเป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดประจำกองทัพขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization NATO)*
     มอนต์กอเมอรีเกิดเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๘๗ ที่กรุงลอนดอน บิดาเป็นบิชอป เขาสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์ปอล และโรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิสต์ (Sandhurst) ต่อจากนั้นได้เข้ารับราชการใน ค.ศ. ๑๙๐๘ และเข้าประจำการในกองพันที่ ๑ แห่งวอริกเชียร์ (Royal Warwickshire Regiment) ในประเทศ อินเดีย เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ เขาได้ย้ายไปประจำการในประเทศฝรั่งเศสและร่วมรบในยุทธการที่เมืองอีปร์ (Battle of Ypres) เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ จนได้รับบาดเจ็บสาหัส เขาต้องกลับไปรักษาตัวที่ประเทศอังกฤษ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญกล้าหาญ (Distinguished Service Order - DSO) เป็นบำเหน็จรางวัล ต่อมา ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๕ เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการกองพลน้อยและกลับไปประจำการที่แนวรบด้านตะวันตกในต้น ค.ศ. ๑๙๑๖ โดยเข้าร่วมรบในการประจัญบานที่ยุทธการที่ซอม(Battle of Somme ๑ กรกฎาคม - ๑๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๖)* ในยุทธการครั้งนี้ ทหารทั้ง ๒ ฝ่ายสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งถูกจับเป็นเชลยจำนวนมาก เมื่อสงครามยุติลงใน ค.ศ. ๑๙๑๘ เขาได้เลื่อนยศเป็นพันเอก ประจำกองพลที่ ๔๗ และนายทหารฝ่ายเสนาธิการ


     ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ มอนต์กอเมอรีได้รับแต่งตั้งเป็นทหารฝ่ายเสนาธิการกองพลน้อยซึ่งประจำการที่คอร์ก (Cork) ซึ่งเป็นเขตการสู้รบอันดุเดือดระหว่างอังกฤษกับไอร์แลนด์ ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ ญาติคนหนึ่งของเขาถูกกองกำลังสาธารณรัฐไอร์แลนด์หรือไออาร์เอ (Irish Republican Army - IRA)* สังหารและครอบครัวเขาก็มีที่ดินอยู่ที่เคาน์ตีดอนิกอล (County Donegal) ซึ่งเป็นเขตที่ได้รับผลกระทบจากสงครามด้วย แต่เมื่อมาประจำการที่คอร์ก มอนต์กอเมอรีไม่ได้ใช้วิธีการโหดร้ายเหมือนนายทหารคนอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ เขาพยายามใช้แนวทางสายกลางและเห็นว่าการต่อสู้ของชาวไอริชเป็นสิ่งที่ชอบธรรม ทั้งยังสนับสนุนให้ชาวไอริชได้ปกครองตนเองเพื่อยุติการขัดแย้ง มอนต์กอเมอรีจึงได้รับการเคารพนับถือจากฝ่ายผู้นำไอร์อาร์เอ ใน ค.ศ. ๑๙๒๗ มอนต์กอเมอรีสมรสกับเอลิซาเบท คาร์เวอร์ (Elizabeth Carver) ต่อมาในทศวรรษ ๑๙๓๐ เขาถูกส่งไปประจำการในปาเลสไตน์ อียิปต์ และอินเดียตามลำดับ เขาเป็นครูสอนในโรงเรียนเสนาธิการที่เควตตา (Quetta) ประเทศอินเดีย ใน ค.ศ. ๑๙๓๗ เขาได้เป็นผู้บังคับบัญชากองพลน้อยที่ ๙ ในปีเดียวกันภรรยาของเขาล้มป่วยและสิ้นชีวิตในปีต่อมาเขาได้เลื่อนยศเป็นพลตรี
     เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้น อังกฤษประกาศสงครามกับเยอรมนีเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ สองวันหลังจากที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hiler ค.ศ. ๑๘๙๐-๑๙๔๕)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party - NSDAP; Nazi Party)* เคลื่อนกำลังทัพบุกโปแลนด์ พลตรีมอนต์กอเมอรีได้รับแต่งตั้งเป็นแม่ทัพกองพลที่ ๓ ของกองกำลังรบอังกฤษนอกประเทศ (British Expeditionary Force) ไปประจำการที่เบลเยียมเยอรมนี รุกเข้ายึดเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ได้เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ กองกำลังรบอังกฤษนอกประเทศถูกตีแตกจนถอยไปตั้งมั่นที่เมืองดันเคิร์ก (Dunkirk) ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมและฐานทัพเรือของฝรั่งเศสทางตอนเหนือติดกับพรมแดนเบลเยียม เยอรมนีโหมบุกโจมตีฝรั่งเศสทางด้านดันเคิร์กโดยจู่โจมทางอากาศเพียงอย่างเดียวจนกองทัพฝ่ายพันธมิตรไม่อาจปฏิบัติการตอบโต้ได้ ฝ่ายพันธมิตรจึงตัดสินใจถอนทัพไปตั้งมั่นที่เกาะอังกฤษ โดยมอบหมายให้มอนต์กอเมอรีเป็นแม่ทัพปฏิบัติการถอนทัพที่ดันเคิร์ก (Evacuation of Dunkirk)* เขาสามารถคุมทหารอังกฤษและฝรั่งเศสจำนวน ๓๓๐,๐๐๐ คนข้ามช่องแคบอังกฤษได้สำเร็จ
     ความสำเร็จในการถอนทัพที่ดันเคิร์กทำให้มอนต์กอเมอรีได้เลื่อนยศเป็นพลโท นายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill ค.ศ. ๑๘๗๔-๑๙๖๕)* จึงเลือกเขาให้เป็นผู้บัญชาการกองทัพอังกฤษปฏิบัติการรบในแอฟริกาเหนือ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ มอนต์กอเมอรีประสบความสำเร็จในการผลักดันกองทัพเยอรมันภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลแอร์วิน รอมเมิล แม่ทัพคนสำคัญของฝ่ายอักษะให้ถอยร่นออกไปจากอียิปต์ในยุทธการเอลอะลาเมน ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๒ พลโทมอนต์กอเมอรีเคลื่อนกำลังไล่ล่ากองทัพเยอรมันไปจนถึงตูนีเซียจนฝ่ายเยอรมนีต้องยอมแพ้เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ อีก ๒ เดือนต่อมา เขาร่วมกับกองทัพพันธมิตรบุกโจมตีซิซีลีในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ จนได้ชัยชนะและนำกองพลที่ ๘ มุ่งตรงไปยังฝั่งตะวันออกของอิตาลีเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๓ เพื่อสมทบกับกองทัพเรือของอังกฤษที่ยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มองดีความสำเร็จในการรบทำให้เขาได้รับพระราชทานเครื่อง ราชอิสริยาภรณ์บาท (Knight Grand Commander of The Bath) ใน ค.ศ. ๑๙๔๒ เมื่อฝ่ายพันธมิตรเคลื่อนกำลังปลดปล่อยฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๙๔๔ มอนต์กอเมอรีก็ได้รับคำสั่งให้เข้าร่วมปฏิบัติการด้วยโดยเป็นผู้ควบคุมกองกำลังภาคพื้นดินทั้งหมดในการบุกยุโรป เพราะเขามีชื่อเสียงในการเป็นนักยุทธศาสตร์ที่รอบคอบ ละเอียดละออและมักตระเตรียมความพร้อมอย่างดีทั้งกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ก่อนเคลื่อนทัพ
     ต่อมา ในวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ ฝ่ายพันธมิตรได้ยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มองดีเพื่อปลดปล่อยยุโรปโดยใช้แผนการรบที่มีชื่อรหัสว่า ปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด (Operation Overlord)* มอนต์กอเมอรีเป็นผู้บัญชาการภาคพื้นดินซึ่งอยู่ใต้การบังคับบัญชาของพลเอก ดไวต์ เดวิด ไอเซนฮาวร์ (Dwight David Eisenhower ค.ศ. ๑๘๙๐-๑๙๖๙) แม่ทัพอเมริกัน เขาต้องเคลื่อนกำลังสนับสนุนการยกพลขึ้นบกของฝ่ายพันธมิตรทางด้านเนเธอร์แลนด์แต่การต่อต้านอย่างแข็งแกร่งของเยอรมนีที่ เมืองอาร์นเฮม (Arnhem) ทำให้ฝ่ายพันธมิตรสูญเสียทหารจำนวนมาก การสูญเสียดังกล่าวทำให้มอนต์กอเมอรีวิพากษ์โจมตีแผนยุทธศาสตร์ของไอเซนฮาวร์อย่างเปิดเผยซึ่งทำให้เขาถูกเชอร์ชิลล์ตำหนิอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการยกพลขึ้นบกในวันดี-เดย์ ค.ศ. ๑๙๔๔ มีส่วนทำให้มอนต์กอเมอรีได้เลื่อนยศเป็นจอมพล และได้เป็นผู้นำกองทัพที่ ๒๑ ของกองกำลังอังกฤษและแคนาดาเข้ายึดดินแดนทางตอนเหนือของฝรั่งเศสและเยอรมนี รวมทั้งเข้าปลดปล่อยเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์
     หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จอมพล มอนต์กอเมอรีได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ (Knight of the Garter - KG) ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดของอังกฤษ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นไวส์เคานต์ ใน ค.ศ. ๑๙๔๖ ก็ได้เป็นผู้บัญชาการกองทัพสหราชอาณาจักรประจำลุ่มแม่น้ำไรน์ และเป็นหัวหน้าหน่วยเสนาธิการของอังกฤษระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๖-๑๙๔๘ ต่อมา เขาได้เป็นประธาน องค์การว่าด้วยการป้องกันถาวร (Permanent Defense Organization) ของสหภาพยุโรปตะวันตกระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๘-๑๙๕๑ และเป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดประจำกองทัพขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๑-๑๙๕๘ นอกจากภารกิจด้านการทหารแล้ว มอนต์กอเมอรียังเขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับประสบการณ์ในการทำสงคราม เป็นต้นว่า El Alamein ( ค.ศ. ๑๙๔๘) The Memoirs of Field Marshal Montgomery ( ค.ศ. ๑๙๕๘) The Path to Leadership ( ค.ศ. ๑๙๖๑) และ Normandy to the Leadership ( ค.ศ. ๑๙๖๘)
     ไวส์เคานต์ จอมพล เบอร์นาร์ด ลอว์ มอนต์กอเมอรีถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๗๖ ใกล้ ๆ เมืองอัลตัน (Alton) แฮมป์เชียร์ (Hampshire) รวมอายุได้ ๘๙ ปี.



คำตั้ง
Montgomery, Bernard Law; 1st Viscount Montgomery of Alamein
คำเทียบ
จอมพล เบอร์นาร์ด ลอว์ มอนต์กอเมอรี, ไวส์เคานต์มอนต์กอเมอรีที่ ๑ แห่งอะลาเมน
คำสำคัญ
- อัลตัน, เมือง
- ดันเคิร์ก, เมือง
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- การถอนทัพที่ดันเคิร์ก
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- ยุทธการที่ซอม
- องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต
- ยุทธการที่เมืองอีปร์
- วันดี-เดย์
- คาร์เวอร์, เอลิซาเบท
- นอร์มองดี, หาด
- กองกำลังรบพันธมิตรนอกประเทศ
- กองกำลังสาธารณรัฐไอร์แลนด์หรือไออาร์เอ
- เคาน์ตีดอนิกอล
- รอมเมิล, แอร์วิน
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- ยุทธการที่เมืองเอลอะลาเมน
- มอนต์กอเมอรี, เบอร์นาร์ด ลอว์
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี
- ปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด
- ไอเซนฮาวร์, ดไวต์ ดี.
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1887-1976
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๓๐-๒๕๑๙
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ปราณี ศิริจันทพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf